วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

เรื่องของถังดำน้ำ Scuba Cylinder


ถังดำน้ำ SCUBA Cylinder


ที่มา: 1. The Encyclopedia of Recreational Diving; PADI
:2. Dive Industry Technician Handbook; ASSET 
ภาณุ  แช่มชื่น เรียบเรียง

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่านักดำน้ำแบบ SCUBA (Self Contained Underwater Breathing Apparatus) จะขาดอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ เลย นั่นก็คือถังดำน้ำ เนื่องจาก นักดำน้ำอย่างพวกเรา ๆ นี่แหละจะสามารถใช้อากาศจากที่นี่หล่ะครับหายใจ ส่วนจะอยู่ใต้น้ำได้นานเท่าไรนั้น ผมไม่ทราบ ???? ทำไมถึงตอบอย่างนั้นน่ะหรือ ก็เพราะว่ามันมีปัจจัยหลายประการด้วยกันถึงจะตอบได้นะ ถ้าบอกมาลอย ๆ ผมก็ไม่หาญกล้าตอบครับ 

1. ถังดำน้ำที่ใช้น่ะขนาดเท่าไร? เล็กหรือใหญ่มีให้เลือกใช้ ถ้าเราใช้ถังใบใหญ่ก็อัดอากาศได้ปริมาตรมากกว่า มีอากาศมากก็อยู่ใต้น้ำได้นาน นี่ยังไมีรวมถึงชนิดของอากาศ หรือแก๊สบางชนิดที่มีการผสมพิเศษเข้าไปนะครับ มันก็จะทำให้เราหายใจอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นด้วย เช่น Enriched Air Nitrox


ถังดำน้ำในปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลากหลายขนาดตามความเหมาะสม

2.  จะดำน้ำที่ความลึกเท่าไร? อันนี้จำได้เลยครับตอนเรียนครูเค้าบอกว่า ถ้าอากาศที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิด เมื่อนำลงสู่ที่ลึกความดันจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาตรของอากาศในถังดำน้ำลดลงด้วยครับ แน่นนอนหล่ะหากผมใช้ถังดำน้ำขนาดเดียวกับคุณแต่ดำน้ำที่ความลึก 10 เมตร (ความดัน 2 บรรยากาศ; ปริมาตรอากาศในถังลดลงจากเดิม 1/2 เท่า) จะดำน้ำได้นานกว่าคุณซึ่งดำน้ำที่ความลึก 20 เมตร (ความดัน 3 บรรยากาศ; ปริมาตรอากาศในถังลดลงจากเดิม 1/3 เท่า) ใช่ไหมครับยังจำกันได้หรือเปล่า

3. สภาพแวดล้อม หรือลักษณะการดำน้ำเป็นอย่างไร ? ที่ถามแบบนี้ก็เพราะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงลักษณะการดำน้ำที่แตกต่างกันจะส่งผลต่ออัตราการใช้พลังงาน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออัตราการหายใจนั่นเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคุณไปดำน้ำในแนวปะการังของอ่าวหนึ่งซึ่งเป็นอ่าวกึ่งปิด ได้รับอิทธิพลของคลื่นลมน้อยมาก ทำให้คุณว่ายน้ำได้อย่างสบาย ๆ ไม่เหนื่อย อัตราการหายใจก็ไม่ถี่ ดังนั้นอากาศในถังของคุณก็จะถูกใช้ไปน้อยด้วยครับ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่ไปดำน้ำบริเวณที่มีกระแส หรือวันที่มีคลื่นลมค่อนข้างแรง การดำน้ำจะเหนื่อยกว่า และอัตราการหายใจจะถี่กว่านั่นเองครับ ส่วนอีกกรณีนะครับสำหรับนักดำน้ำที่ไปเที่ยวชมสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลเพื่อการพักผ่อน หรือนักดำน้ำที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลกลุ่มนักดำน้ำเช่นไดว์มาสเตอร์ หรือผู้ที่ดำน้ำทำงานเช่นนักสำรวจวิจัยทางทะเล หรือนักดำน้ำกู้ภัยก็จะใช้พลังงานในการดำน้ำที่แตกต่างกันด้วยครับ

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อการใช้พลังงานและการหายใจ

4. ประสบการณ์หรือความคุ้นเคยกับการดำน้ำมากน้อยเพียงใด? ข้อนี้ชัดเจนเลยครับ การที่นักเรียนดำน้ำมือใหม่ ใช้ถังดำน้ำขนาดเดียวกันกับครู ความดันอากาศก็เต็ม 200 บาร์ แต่ทำไมครูใช้ถังอากาศใบที่มีอากาศ 100 บาร์ เองยังพาเราขึ้นลงได้ตลอดรอดฝั่ง หรือบางครั้งนักเรียนอากาศหมดก่อนเสียอีก 555 อันนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ และระดับของการฝึกฝน เนื่องจากการฝึกฝนทักษะการดำน้ำที่สูงขึ้นจะช่วยพัฒนาการหายใจได้ดีขึ้น เช่นการรักษาแรงลอยตัวเป็นกลาง การตีฟินที่มีประสิทธิภาพ การใช้ระบบน้ำหนักที่เหมาะสม รวมถึงสภาพจิตใจที่นิ่งไม่ตื่นตระหนกต่อสภาพแวดล้อมใต้ทะเล เป็นต้นครับ

Efficiency fin kick และ neutral buoyancy คือทักษะดำน้ำที่สำคัญ


สัญลักษณ์ที่เราพบอยู่บนคอถังดำน้ำมีความหมายอย่างไร?

สัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนคอถังดำน้ำ หากไม่เข้าใจอย่าตีความหมายว่าสัญลักษณ์ไม่มีความสำคัญนะครับ


 สัญลักษณ์บนคอถังดำน้ำ

1. บ่งบอกถึงมาตรฐานการรับรองการผลิตถังดำน้ำ
    DOT/ CTC เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงหน่วยงานของรัฐบาลซึ่ง
    รับผิดชอบ มาตรฐานของการผลิตถังดำน้ำ 
        DOT=Departmant Of Transportation เป็นหน่วยงานของ 
        สหรัฐอเมริกานิยมใช้กันในแถบอเมริกา และไทย
    CTC= Canadian Transportation Commission เป็นหน่วยงาน 
    ของแคนาดานิยมใช้กันในแถบยุโรป 

2. บ่งบอกถึงวัสดุที่ใช้ทำถังดำน้ำ
       - ถังดำน้ำที่ทำด้วยเหล็กจะปรากฏสัญลักษณ์ 3AA (Steel alloy)
       - ถังดำน้ำที่ทำด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ จะปรากฏสัญลักษณ์ 3AL  
         (Aluminium alloy) 

   3. บ่งบอกถึงวัน เดือน ปี ที่ถังดำน้ำได้รับการตรวจสอบคุณภาพ (Hydrostatic test)
    วันเดือนปีที่ทำ Hydrostatic test เช่นสัญลักษณ์ 06N14 หมายถึงถังใบนี้ได้รับการตรวจ เมื่อเดือน มิถุนายน ปี 2014 โดยเอเจนซี่ หรือร้านรับบริการตรวจสอบที่ชื่อ N เป็นต้น หลังจากที่ทำการตรวจสอบความดันของถังดำน้ำแล้ว พบว่ามีสัญลักษณ์ปรากฏเป็นเครื่องหมาย + อยู่  บนคอถังดำน้ำ แสดงว่าถังดำน้ำใบนั้นสามารถอัดอากาศได้เกินกว่าที่ Working pressure กำหนดไว้ 10% คือปกติถังใบนี้อัดอากาศได้เต็มที่ 200 บาร์ แต่มีสัญลักษณ์นี้บอกว่าสามารถรับแรงดันได้ถึง 220 บาร์ 

   4. บ่งบอกบริษัทผู้ผลิต และ Serial number ของถัง  
ถังดำน้ำแต่ละใบจะปรากฏ Serial number ของถังอยู่ (หมายเลขประจำของถังดำน้ำ) หากเราซื้อถังดำน้ำมาจากตัวแทนจำหน่าย หากพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับตัวถังดำน้ำไม่ว่ากรณีใดใดก็ตาม เราสามารถฟ้องร้องหรือสามารถเปลี่ยนใหม่ได้ ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า มีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร และจะสามารถปรับปรุงแก้ไขสายการผลิต รวมถึงการประกาศยกเลิกจำหน่าย หรือเรียกคืนถังดำน้ำในรอบสายการผลิตเดียวกันนั้นได้ด้วย

ความต่างระหว่างถังดำน้ำที่ทำด้วยเหล็ก และอลูมิเนียม             

โดยทั่วไปแล้วถังดำน้ำที่เราพบเจอ ไม่ว่าจะซื้อหรือเช่าส่วนใหญ่จะทำจาก Steel Alloy หรือ Aluminium Alloy 
- ถังดำน้ำที่ทำด้วยเหล็กจะมีความแข็งแรงมากกว่าถังดำน้ำที่ทำจากอลูมิเนียมในความหนาที่เท่ากัน 
-เรามักจะพบว่าถ้าขนาดของถังที่เท่ากัน ถังเหล็กจะสามารถบรรจุอากาศได้มากกว่าถังอลูมิเนียม เนื่องจากถังอลูมิเนียมจะมีผนังที่หนามากกว่า เพื่อให้มีความทนทานและความสามารถรับแรงดันได้เทียบเท่ากับถังเหล็ก เพราะความไม่แข็งแรงของอลูมิเนียมนี้เอง อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรามักจะพบว่ามีการใช้ถังดำน้ำอลูมิเนียมอย่างแพร่หลาย แต่ก็มิได้หมายความว่าถังดำน้ำเหล็กจะหมดความนิยมไปเสียทีเดียวครับ ยังมีบางหน่วยงานที่ยังผลิตและเลือกใช้อยู่ตามความเหมาะสมของวัสดุ


ข้อเสียของถังเหล็ก  
- มีน้ำหนักมาก
- การก่อตัวของสนิม และการดูแลรักษายากกว่าอลูมิเนียม


ข้อดีของถังเหล็ก

   - เมื่อความดันในถังลดลง (Low pressure) จะไม่มีผลต่อการควบคุม Buoyancy แต่ถังอลูมิเนียมเราอาจจะพบว่าตัวเราจะมีแรงลอยตัวมากขึ้นเมื่ออากาศเหลือน้อย (แต่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มก้อนน้ำหนักไว้ก่อนแล้วตั้งแต่เริ่มการดำน้ำ)



การตรวจสอบประสิทธิภาพถังดำน้ำด้วย HydrostaticTest
ในหลายๆ ประเทศมีข้อกำหนดที่ถังดำน้ำจะต้องได้รับการตรวจสอบความดัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ทุกๆ 5 ปี, ประเทศอังกฤษ กำหนดทุกๆ 4 ปี และประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 3 ปี (ระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม) ซึ่งวิธีการในการตรวจสอบอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วๆ ไปจะเป็นลักษณะดังต่อไปนี้
1) การทดสอบจะนำถังดำน้ำไปแช่ในน้ำ และวัดปริมาตรของถังดำน้ำ (Tank volume measured)
2) การทดสอบจะอัดแรงดันของน้ำ เข้าไปในถังดำน้ำมากกว่าความดันปกติ (Working pressure) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 5/3 คูณด้วย Working pressure เช่น 5/3 x 200 Bar และดูการขยายของถังดำน้ำ
3) ทำการลดความดันของน้ำที่อัดเข้าไปในถัง และตรวจสอบปริมาตรของถัง เทียบกับปริมาตรก่อนการตรวจสอบ
4) ถ้าหากปริมาตรใหม่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ (Acceptable limit) ถังใบนั้นก็ผ่านการตรวจสอบ และนำไปใช้ได้


การทดสอบประสิทธิภาพของถังดำน้ำ้วย Hydrostatic Test

อาจจะมีบางสถานการณ์ที่ทำให้ถังดำน้ำเกิดการอ่อนตัว (weaken) หรือมีปัญหากับโครงสร้างของถังก่อนที่จะถึงกำหนดที่จะต้องทำการตรวจสอบ ซึ่งอาจจะรวมถึงหัวข้อต่อไปนี้
1) ถังที่ถูกแยกชิ้นส่วน และนำทรายกลิ้งด้านในเพื่อทำความสะอาด เพื่อกำจัดสนิม คราบสกปรก
2) โครงสร้างเสียหายอันเกิดจากการกระทบกระแทก เช่น บุบ ยุบตัว
3) ถังที่ได้รับความร้อนมากกว่า 82 องศาเซลเซียส หรือ 180 องศาฟาเรนไฮต์ เช่นการพ่นและอบสี การถูกเผาหรือรนด้วยไฟ (เนื่องจากถังดำน้ำเหล่านี้จะได้รับการ Treatment ด้วยความร้อนที่มากกว่าหรือเท่ากับ 500 องศาเซลเซียส แล้ว แล้วทำการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วด้วยน้ำเย็น ซึ่งวิธีนี้จะทำให้โลหะผสมทุกชนิดมีความแข็งแรงมาก) หากถังดำน้ำได้รับอุณหภูมิสูงอีกครั้งจะทำให้คุณสมบัติความแข็งแรงของโลหะแตกต่างไปจากเดิม
4) ถังที่ไม่ได้ใช้งานเลย เป็นระยะเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี 


 ถังดำน้ำที่แตกเสียหาย เนื่องจากโลหะมีความล้าและอ่อนตัว

การตรวจสอบประสิทธิภาพถังดำน้ำโดยวิธี Visual inspection (ตรวจสอบด้วยตาเปล่า) 
1. การทำ Visual Inspection คือการตรวจสอบด้วยสายตาโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยจะทำการตรวจสอบภายใน และภายนอกของตัวถังน้ำ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อทำการตรวจสอบถึงความเสียหาย หรือการก่อตัวกันของคราบสกปรกต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งอาจจะเกิดระหว่างการทำ Hydrostatic Test 
2. การตรวจสอบนี่ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตามกฎหมายในหลายๆ ประเทศ แต่ถือเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมดำน้ำ
3. การตรวจสอบโดยการแยก Valve ออกจากคอถังดำน้ำ จากนั้นจึงทำการตรวจสอบเกลียว, O-ring และทาซิลิโคน รวมถึงการทำการตรวจสอบผนังภายในและภายนอก ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อถังดำน้ำได้ 



 การทำ Visual Inspection โดยผู้เชี่ยวชาญ


Valve ของถังดำน้ำมีความแตกต่างกันอย่างไร


1. K valve คือ Sample on/off valve ถังดำน้ำที่ใช้ในปัจจุบันเป็นแบบ K valve ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นที่แพร่หลาย 


           K valve


2. J valve ซึ่งเป็น valve ที่ประกอบไปด้วยกลไก Reserve เมื่ออากาศเต็มถัง valve จะอยู่ในตำแหน่ง Up หรือขึ้นบน และเมื่ออากาศภายในถังลดต่ำลงเหลือประมาณ 20-40 Bar หรือ 300-500 PSI นักดำน้ำจะปรับ valve ลงมาในตำแหน่ง Down หรือตำแหน่งลงล่าง ซึ่งแนวคิดในการออกแบบ valve ลักษณะนี้ เพื่อเป็นการเตือนนักดำน้ำว่าความดันภายในถังลดต่ำลงแล้ว และนักดำน้ำควรเริ่มว่ายกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยพบ valve ลักษณะนี้ เพราะการออกแบบของ Pressure gauge มีความแม่นยำขึ้น เมื่ออัดอากาศจะต้องปรับ valve ให้อยู่ในตำแหน่งลงล่าง และเมื่ออากาศเต็มแล้วก็จะปรับไปที่ตำแหน่งบน เพื่อพร้อมที่จะใช้อากาศในถังได้


J valve

3. DIN valve ได้รับความนิยมในประเทศแถบยุโรปมาช้านาน เป็นการประกอบโดยวิธีการ First stage ของ regulator จะเป็นเสมือน valve ตัวผู้ และคอถังดำน้ำจะเป็นเสมือน valve ตัวเมีย ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าการประกอบแบบ Yoke screw ที่ใช้กันปกติในปัจจุบัน
1) จะเกิดความแน่นหนาขึ้นในการประกอบ โดยที่ O-ring จะอยู่ระหว่าง valve ทั้งสอง
2) เนื่องจาก  Regulator และถังดำน้ำเป็นสกรูน็อตหมุนเข้าหากัน จึงทำให้มีความแข็งแรงในการประกอบอย่างมาก และได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ชอบดำถ้ำ หรือดำเรือจม ซึ่งจะมีโอกาสกระแทกผนังถ้ำ หรือเรือจมได้มาก

             
               DIN valve 

อะไรคืออุปกรณ์ซึ่งควบคุมความปลอดภัยของถังดำน้ำ เมื่อมีแรงอัดอากาศที่เกินกว่าปกติ?
เคยคิดอยู่เหมือนกัน ถ้าเราอัดอากาศเกินแรงดันสูงสุดที่ถังรับได้หล่ะจะเป็นอย่างไร เพราะมีหลายครั้งที่ผมอัดอากาศอยู่แต่ก็เผลอเดินไปทำธุระบ้าง หรือบางทีก็ไปยืนคุยโม้กับคนอื่นอยู่ ปรากฎว่าถังดำน้ำนั้นเต็มไปตั้งนานแล้ว แต่โชคดีที่ตัวเครื่องอัดอากาศ (Compressure) มีระบบควบคุมแรงดันเอาไว้ ไม่งั้นถังจะแตกแน่เลย จริงหรือเปล่า ? คำตอบก็คือไม่จริง เนื่องจากที่วาล์วของถังดำน้ำจะมีระบบความปลอดภัยอีกส่วนหนึ่งนั่นก็คือ Burst disk แล้วเจ้าเหรียญตัวนี้มันคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรกันหล่ะครับ


Burst disk เกิดการโก่งตัวและแตกเนื่องจากแรงดันเกินปกติ


Burst disks ( เหรียญโลหะทำจากทองแดง) จะประกอบอยู่ตรงคอถังดำน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากแรงอัดอากาศที่เกินกว่าปกติ จนอาจก่อให้เกิดการระเบิดขึ้นได้  โดยเหรียญนี้จะแตกออกเมื่อความดันมากกว่า 125-166% เหนือความดันปกติ ซึ่งการผลิตวาล์วถังดำน้ำถูกควบคุมโดยข้อกำหนดตามกฎหมายสากล อย่างไรก็ตามเหรียญเล็กๆ นี้อาจจะเกิดการอ่อนตัวเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นควรทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

BCD กับการดำน้ำ

ที่มา: 1. The Encyclopedia of Recreational Diving; PADI
 ภาณุ  แช่มชื่น เรียบเรียง

>>>คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ไปท่องเที่ยวดำน้ำอยู่เป็นประจำ หรือบางคนไม่ถึงกับดำน้ำบ่อยครั้งนัก ทว่าในหนึ่งปีฉันจะต้องมีทริปดำน้ำสุดพิเศษที่ฉันตั้งตารอคอยอย่างใจจดจ่อ แบบที่เรียกได้ว่าดำน้ำทั้งทีก็ต้องเต็มที่กับชีวิตไปเลย หรือสำหรับบางคนในชีวิตนี้อย่างน้อย ๆ อาจบอกว่าฉันก็เคยได้เรียนหลักสูตรดำน้ำมาแล้วเหมือนกันนะ แต่เนื่องด้วยภาระงานที่มาก สุขภาพ และปัจจัยอื่น ๆ ไม่เอื้ออำนวย ทำให้โอกาสที่จะไปดำน้ำน้อยไปหน่อย แต่ไม่เป็นไรครับ ประเด็นอยู่ที่ว่าเรามีทัศนคติต่อกีฬา หรือกิจกรรมสันทนาการประเภทนี้อย่างไร คุณได้ฝึกฝน และพัฒนาทักษะอันสุดพิเศษ ที่น้อยคนบนโลกนี้จะมีโอาสได้ทำหรือไม่ สรุปคือแม้จะไปดำน้ำมาหลายร้อยไดฟว์ แต่ถ้าทัศนะคติต่อกิจกรรมดำน้ำยังแย่อยู่ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในการดำน้ำ อีกทั้งทักษะการดำน้ำก็ไม่ดีเท่าที่ควร (ประมาณว่าครูต้องประกบตลอดเวลา ทุกวินาที) บุคคลดังกล่าวหมายถึงผู้ที่มีแค่เปลือกนอกของศาสตร์แห่งการดำน้ำเท่านั้น เนื่องจากคุณไม่พยายามเจาะให้ลึกไปจนถึงแก่นแท้ของศาสตร์ดังกล่าวเลย เปรียบเสมือนผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ แต่ผู้นั้นยังขับรถฝ่าฝืนกฏจราจร และเกิดอุบัติเหตุต่อตนเอง และผู้อื่นบ่อยครั้งนั่นเอง


ประกาศนียบัตรนักดำน้ำบ่งบอกถึงมาตรฐานการฝึก มิได้มีไว้โชว์นะครับ

>>>ทักษะการสร้างสภาพการลอยตัวเป็นกลาง (Nuetral buoyancy skill) ทั้งในส่วนของ Fin pivot และ Hovering นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่ง และอาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดำน้ำก็ว่าได้ เนื่องจากการที่นักดำน้ำมีแรงลอยตัวเป็นกลาง เมื่อขณะอยู่ใต้น้ำจะช่วยให้นักดำน้ำผู้นั้น มีอัตราการใช้พลังงานที่ต่ำ และประหยัดอากาศในถังดำน้ำ นอกจากนี้ยังไม่ทำให้อุปกรณ์ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสกับสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่พื้น ที่จะนำมาซึ่งความเสียหายของอุปกรณ์ และการบาดเจ็บของร่างกายได้ 



การมีสภาพแรงลอยตัวไม่เหมาะสมจะทำให้การดำน้ำของคุณกลายเป็นเรื่องยาก
 

>>>จะสร้างสภาพการลอยตัวให้เป็นกลางได้อย่างไร ? หลายคนคงลืมไปแล้ว แต่ไม่เป็นไรครับ การที่นักดำน้ำจะมีแรงลอยตัวที่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการคือ 1. การปรับและใช้ระบบน้ำหนักที่เหมาะสม โดยตระหนักเสมอว่าตะกั่วไม่ได้มีไว้ถ่วงให้จม แต่เพื่อชดเชยแรงลอยตัวที่เพิ่มขึ้นจาก wet suit และการลดลงของอากาศในถังดำน้ำ 2. การควบคุมอากาศในถุงลมของ BCD และ 3. ควบคุมปริมาตรของปอดจากจังหวะการหายใจแบบละเอียด และประณีต เท่านี้เองครับไม่ยากเลยจริงไหม 



แรงลอยตัวขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการคือ ระบบน้ำหนัก กาควบคุม BCD และปริมาตรปอด
 

>>>จากสิ่งที่ผมเกริ่นไปซะยืดยาวในตอนต้น ผมก็จะขอนำคุณเข้าสู่หัวข้อหลักของเรา ณ บัดนี้>>>

>>>ไม่ว่านักดำน้ำจะมีชั่วโมงบินมากหรือน้อยเพียงใด หรือจะมีประกาศนียบัตรนักดำน้ำระดับใดก็ตาม ผมกล้าพูดได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก และไม่เคยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า BCD หรือ BC เนื่องจากอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับการดำน้ำแบบ SCUBA เช่นเดียวกับอุปกรณ์พื้นฐานอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอาทิเช่น Mask, Snorkel, Fins, Regulator, Weight systems, Computerและอื่น ๆ

>>>ผมยังจำความได้ถึงทุกวันนี้ ถึงตอนที่ครูของผมเคยสอนว่า BCD เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยในการควบคุมแรงลอยตัวของนักดำน้ำ ทั้งในขณะที่อยู่บนผิวน้ำ และใต้น้ำ และเมื่อเรียนจบ เราก็ไปฝึกภาคปฏิบัติในสระน้ำจนชำนาญ แล้วก็จบ....แค่นั้น... ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ไม่เคยมีใครถามครูเลยว่า BCD มีที่มา และพัฒนาการอย่างไร แล้ว BCD ที่เคยพบเห็นอยู่ตามร้านขายอุปกรณ์ดำน้ำ และตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่รูปร่างหน้าตา และราคาแตกต่างกัน แล้ว BCD เหล่านั้นเอาไว้ใช้ตอนไหน อย่างไร (ปัญหาเยอะน่ะเนี่ย)   

>>>ด้วยเหตุนี้เองผมจึงนำตำราทั้งเล่มเก่า และใหม่ที่มี จากรูบาอาจารย์เคยหยิบยื่นให้ รวมทั้งข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แล้วจึงกลั่นกรองจนได้ข้อมูลมาพอสังเขป มาบอกเล่าเก้าสิบกันนะครับ


รูปแบบของ BCD สำหรับการดำน้ำในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

 
1. BCD ประเภทสวมทางด้านหน้า (Front Mounted BCD) 
เราอาจพบว่า BCD ประเภทนี้สามารถเรียกอีกอย่างว่า Horse collar vest ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของ BCD ทั้งหมดในปัจจุบันก็ว่าได้ ปัจจุบันยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างในแถบยุโรป และนิยมใช้สำหรับการ ดำน้ำแบบ snorkeling

  
Front Mounted BCD

2. BCD ประเภทสวมทางด้านหลัง (Back Mounted BCD)
ด้วยลักษณะเด่นของถุงลมรูปเกือกม้าขนาดใหญ ที่ผลิตจากวัสดุที่มีความคงทนสูง ดังนั้น BCD ประเภทนี้จึงเป็นที่นิยม และเป็นมาตรฐานของการดำน้ำทางเทคนิค (Technical diver) โดยเฉพาะการดำน้ำในที่แคบ เช่น การดำน้ำในถ้ำ และการดำน้ำในเรือจมเป็นต้น

 

 Back Mounted BCD

3. BCD แจ็คเก๊ตขั้นสูง (Advanced design jacket BCD)
ทำไมต้องขั้นสูง ? ชื่อข้างต้นบ่งบอกว่าได้รับการพัฒนามาแล้วจนมีระบบและความสามารถที่ดี เนื่องจาก BCD เสื้อแจ็คเก๊ต (Jacket BCD) แบบเดิมนั้น ยังใช้ระบบถุงลมที่ครอบคลุมเกือบทั้งลำตัวส่วนบน ไม่ว่าจะเป็นด้านหลัง หัวไหล่ และช่วงท้องด้านล่าง รูปแบบดังกล่าวอาจทำให้ศูนย์ถ่วงของร่างกายไม่ดีนัก ส่งผลให้การควบคุมสมดุลของร่างกายในแนวราบไม่คงที่ จึงมีการพัฒนาเป็นรูปแบบใหม่ ที่เน้นเฉพาะถุงลมในส่วนทีสำคัญมากขึ้น เช่นถุงลมด้านหลัง นอกจากนี้ยังมีการลดขนาดของสาย Inflator ลงและเชื่อมต่อโดยตรงกับถุงลม ทำให้สามารถทำการปรับอัตราการเข้าออกของอากาศได้รวดเร็วมากขึ้น

  
Advanced design jacket BCD


4. BCD ระบบ (Systems BCD)
 BCD ประเภทนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของนักดำน้ำที่ต้องการ ปฏิบัติงานหรือภารกิจที่มาก และยากขึ้น โดยสามารถเชื่อมต่อ คล้องและยึดกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มากกว่าทั้งปริมาณ และความหลากหลาย เช่น ถังอากาศ และถังแก๊สผสมพิเศษ รอก เชือก ถุงยกของ และอื่น ๆ ซึ่ง BCD ประเภทอื่น ไม่สามารถทำได้ นักดำน้ำที่ใช้ BCD ประเภทนี้ คือนักดำน้ำแบบเทคนิค (Technical diver) ที่ดำน้ำแบบ Deep trimix tec dive
 


  
Systems BCD

เนื่องจาก BCD ระบบ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคงจะมีความซับซ้อนอยู่พอสมควร โดยเกิดจากการรวมกันของอุปกรณ์ย่อย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. อาน (Harness) 2. ตัว BCD หรือถุงลม (Bladder) และ 3. กระเป๋าน้ำหนัก (Weight pockets ) แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่จะเข้าใจใช่ไหมครับ ลองพิจารณาตามแผนภาพด้านล่างได้เลยครับ
 
 
 ส่วนประกอบหลักของ BCD ระบบ



>>> คราวนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วนะครับว่า BCD มีกี่ประเภท และแบ่งตามลักษณะการใช้งานอย่างไร และขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยนะครับ สำหรับนักดำน้ำที่สนใจจะไปเช่า และเลือกซื้อ BCD จะต้องพิจารณาอะไรอีกบ้าง ง่าย ๆ ดังนี้ครับ BCD ที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะพื้นฐาน 5 ประการคือ

1. BCD ที่เติมอากาศเข้าไปภายในแล้ว จะมีควมสามารถในการยกตัวของนักดำน้ำ พร้อมอุปกรณ์พื้นฐานให้พ้นจากพื้นได้สบายเมื่ออยู่ใต้น้ำ และสามารถพยุงนักดำน้ำได้ดีเช่นกัน เมื่ออยู่บนผิวน้ำ

2. มีท่ออากาศ ขนาดเหมาะสมที่จะเติม และปล่อยอากาศเข้า BCD ได้ง่าย และรวดเร็ว 

3. มีส่วนต่อกับสายแรงดันต่ำ (Low pressure inflator) ที่สามารถใช้อากาศจากถังดำน้ำเติมเข้า BCD ได้โดยตรง

4. ต้องมีระบบปล่อยอากาศฉุกเฉิน (Dump valve) ที่ป้องกันการแตก หรือฉีกขาด จากการที่มีอากาศเพิ่มขึ้นเกินขีดจำกัด เนื่องจากการเติมอากาศมากเกินไป หรือการขยายตัวของอากาศเนื่องจากการลดลงของความดัน

5. BCD ต้องมีสายรัด หรือจุดเชื่อมต่อ ที่เหมาะสมเมื่อสวมใส่แล้วจะกระชับ พอดีทั้งตอนที่เติมอากาศเข้า และปล่อยออกจาก BCD 




การเลือกใช้ BCD ที่เหมาะสมจะทำให้การฝึกทักษะ และการดำน้ำของคุณปราศจากอุปสรรค
 

>>>แล้วเราจะเลือกใช้ BCD ประเภทไหนให้เหมาะกับตัวเองหล่ะ ? ง่ายนิดเดียวครับ ให้คุณพิจารณาถึงระดับขั้นของการฝึกของคุณ และคำนึงถึงงานและภารกิจที่เราจะต้องลงไปปฏิบัติใต้น้ำครับ หลังจากนี้ก็เลือก BCD ที่มีขนาดที่กระชับ และพอดีกับร่างกายของเราเท่านั้นก็เพียงพอแล้วครับ หากคุณมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากครูฝึกของคุณ หรือฝ่ายบริการลูกค้า ณ ร้านดำน้ำที่สะดวกกับคุณนะครับ สุดท้ายนี้ผมหวังว่าทุกคนคงจะคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหน้าตาของ BCD ประเภทต่าง ๆ และลักษณะการใช้งาน ซึ่งคุณจะสามารถลือกซื้อ หรือเช่าเพื่อไปดำน้ำพักผ่อนได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล และใช้อุปกรณ์ในการพัฒนาทักษะการดำน้ำของคุณให้สูงขึ้นได้แน่นอน 



ควรเลือกซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ดำน้ำ จากร้านที่น่าเชื่อถือ และครูของท่านเอง
 
 >>>สุดท้ายนี้ผมหวังว่า คุณคงจะสนุก สนาน และให้ความสนใจกับการเข้าร่วมกิจกรรมการดำน้ำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรอัพเดท ข่าวคราวในวงการดำน้ำเป็นประจำ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ของตนเองนะครับ



สนใจหลักสูตรเรียนดำน้ำ คลิ๊ก!!!!
โดยทีมงานผู้สอนคุณภาพ เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และวิทยาศาสตร์ทางทะเล