วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

เรื่องของถังดำน้ำ Scuba Cylinder


ถังดำน้ำ SCUBA Cylinder


ที่มา: 1. The Encyclopedia of Recreational Diving; PADI
:2. Dive Industry Technician Handbook; ASSET 
ภาณุ  แช่มชื่น เรียบเรียง

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่านักดำน้ำแบบ SCUBA (Self Contained Underwater Breathing Apparatus) จะขาดอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ เลย นั่นก็คือถังดำน้ำ เนื่องจาก นักดำน้ำอย่างพวกเรา ๆ นี่แหละจะสามารถใช้อากาศจากที่นี่หล่ะครับหายใจ ส่วนจะอยู่ใต้น้ำได้นานเท่าไรนั้น ผมไม่ทราบ ???? ทำไมถึงตอบอย่างนั้นน่ะหรือ ก็เพราะว่ามันมีปัจจัยหลายประการด้วยกันถึงจะตอบได้นะ ถ้าบอกมาลอย ๆ ผมก็ไม่หาญกล้าตอบครับ 

1. ถังดำน้ำที่ใช้น่ะขนาดเท่าไร? เล็กหรือใหญ่มีให้เลือกใช้ ถ้าเราใช้ถังใบใหญ่ก็อัดอากาศได้ปริมาตรมากกว่า มีอากาศมากก็อยู่ใต้น้ำได้นาน นี่ยังไมีรวมถึงชนิดของอากาศ หรือแก๊สบางชนิดที่มีการผสมพิเศษเข้าไปนะครับ มันก็จะทำให้เราหายใจอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นด้วย เช่น Enriched Air Nitrox


ถังดำน้ำในปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลากหลายขนาดตามความเหมาะสม

2.  จะดำน้ำที่ความลึกเท่าไร? อันนี้จำได้เลยครับตอนเรียนครูเค้าบอกว่า ถ้าอากาศที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิด เมื่อนำลงสู่ที่ลึกความดันจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาตรของอากาศในถังดำน้ำลดลงด้วยครับ แน่นนอนหล่ะหากผมใช้ถังดำน้ำขนาดเดียวกับคุณแต่ดำน้ำที่ความลึก 10 เมตร (ความดัน 2 บรรยากาศ; ปริมาตรอากาศในถังลดลงจากเดิม 1/2 เท่า) จะดำน้ำได้นานกว่าคุณซึ่งดำน้ำที่ความลึก 20 เมตร (ความดัน 3 บรรยากาศ; ปริมาตรอากาศในถังลดลงจากเดิม 1/3 เท่า) ใช่ไหมครับยังจำกันได้หรือเปล่า

3. สภาพแวดล้อม หรือลักษณะการดำน้ำเป็นอย่างไร ? ที่ถามแบบนี้ก็เพราะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงลักษณะการดำน้ำที่แตกต่างกันจะส่งผลต่ออัตราการใช้พลังงาน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออัตราการหายใจนั่นเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคุณไปดำน้ำในแนวปะการังของอ่าวหนึ่งซึ่งเป็นอ่าวกึ่งปิด ได้รับอิทธิพลของคลื่นลมน้อยมาก ทำให้คุณว่ายน้ำได้อย่างสบาย ๆ ไม่เหนื่อย อัตราการหายใจก็ไม่ถี่ ดังนั้นอากาศในถังของคุณก็จะถูกใช้ไปน้อยด้วยครับ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่ไปดำน้ำบริเวณที่มีกระแส หรือวันที่มีคลื่นลมค่อนข้างแรง การดำน้ำจะเหนื่อยกว่า และอัตราการหายใจจะถี่กว่านั่นเองครับ ส่วนอีกกรณีนะครับสำหรับนักดำน้ำที่ไปเที่ยวชมสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลเพื่อการพักผ่อน หรือนักดำน้ำที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลกลุ่มนักดำน้ำเช่นไดว์มาสเตอร์ หรือผู้ที่ดำน้ำทำงานเช่นนักสำรวจวิจัยทางทะเล หรือนักดำน้ำกู้ภัยก็จะใช้พลังงานในการดำน้ำที่แตกต่างกันด้วยครับ

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อการใช้พลังงานและการหายใจ

4. ประสบการณ์หรือความคุ้นเคยกับการดำน้ำมากน้อยเพียงใด? ข้อนี้ชัดเจนเลยครับ การที่นักเรียนดำน้ำมือใหม่ ใช้ถังดำน้ำขนาดเดียวกันกับครู ความดันอากาศก็เต็ม 200 บาร์ แต่ทำไมครูใช้ถังอากาศใบที่มีอากาศ 100 บาร์ เองยังพาเราขึ้นลงได้ตลอดรอดฝั่ง หรือบางครั้งนักเรียนอากาศหมดก่อนเสียอีก 555 อันนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ และระดับของการฝึกฝน เนื่องจากการฝึกฝนทักษะการดำน้ำที่สูงขึ้นจะช่วยพัฒนาการหายใจได้ดีขึ้น เช่นการรักษาแรงลอยตัวเป็นกลาง การตีฟินที่มีประสิทธิภาพ การใช้ระบบน้ำหนักที่เหมาะสม รวมถึงสภาพจิตใจที่นิ่งไม่ตื่นตระหนกต่อสภาพแวดล้อมใต้ทะเล เป็นต้นครับ

Efficiency fin kick และ neutral buoyancy คือทักษะดำน้ำที่สำคัญ


สัญลักษณ์ที่เราพบอยู่บนคอถังดำน้ำมีความหมายอย่างไร?

สัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนคอถังดำน้ำ หากไม่เข้าใจอย่าตีความหมายว่าสัญลักษณ์ไม่มีความสำคัญนะครับ


 สัญลักษณ์บนคอถังดำน้ำ

1. บ่งบอกถึงมาตรฐานการรับรองการผลิตถังดำน้ำ
    DOT/ CTC เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงหน่วยงานของรัฐบาลซึ่ง
    รับผิดชอบ มาตรฐานของการผลิตถังดำน้ำ 
        DOT=Departmant Of Transportation เป็นหน่วยงานของ 
        สหรัฐอเมริกานิยมใช้กันในแถบอเมริกา และไทย
    CTC= Canadian Transportation Commission เป็นหน่วยงาน 
    ของแคนาดานิยมใช้กันในแถบยุโรป 

2. บ่งบอกถึงวัสดุที่ใช้ทำถังดำน้ำ
       - ถังดำน้ำที่ทำด้วยเหล็กจะปรากฏสัญลักษณ์ 3AA (Steel alloy)
       - ถังดำน้ำที่ทำด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ จะปรากฏสัญลักษณ์ 3AL  
         (Aluminium alloy) 

   3. บ่งบอกถึงวัน เดือน ปี ที่ถังดำน้ำได้รับการตรวจสอบคุณภาพ (Hydrostatic test)
    วันเดือนปีที่ทำ Hydrostatic test เช่นสัญลักษณ์ 06N14 หมายถึงถังใบนี้ได้รับการตรวจ เมื่อเดือน มิถุนายน ปี 2014 โดยเอเจนซี่ หรือร้านรับบริการตรวจสอบที่ชื่อ N เป็นต้น หลังจากที่ทำการตรวจสอบความดันของถังดำน้ำแล้ว พบว่ามีสัญลักษณ์ปรากฏเป็นเครื่องหมาย + อยู่  บนคอถังดำน้ำ แสดงว่าถังดำน้ำใบนั้นสามารถอัดอากาศได้เกินกว่าที่ Working pressure กำหนดไว้ 10% คือปกติถังใบนี้อัดอากาศได้เต็มที่ 200 บาร์ แต่มีสัญลักษณ์นี้บอกว่าสามารถรับแรงดันได้ถึง 220 บาร์ 

   4. บ่งบอกบริษัทผู้ผลิต และ Serial number ของถัง  
ถังดำน้ำแต่ละใบจะปรากฏ Serial number ของถังอยู่ (หมายเลขประจำของถังดำน้ำ) หากเราซื้อถังดำน้ำมาจากตัวแทนจำหน่าย หากพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับตัวถังดำน้ำไม่ว่ากรณีใดใดก็ตาม เราสามารถฟ้องร้องหรือสามารถเปลี่ยนใหม่ได้ ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า มีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร และจะสามารถปรับปรุงแก้ไขสายการผลิต รวมถึงการประกาศยกเลิกจำหน่าย หรือเรียกคืนถังดำน้ำในรอบสายการผลิตเดียวกันนั้นได้ด้วย

ความต่างระหว่างถังดำน้ำที่ทำด้วยเหล็ก และอลูมิเนียม             

โดยทั่วไปแล้วถังดำน้ำที่เราพบเจอ ไม่ว่าจะซื้อหรือเช่าส่วนใหญ่จะทำจาก Steel Alloy หรือ Aluminium Alloy 
- ถังดำน้ำที่ทำด้วยเหล็กจะมีความแข็งแรงมากกว่าถังดำน้ำที่ทำจากอลูมิเนียมในความหนาที่เท่ากัน 
-เรามักจะพบว่าถ้าขนาดของถังที่เท่ากัน ถังเหล็กจะสามารถบรรจุอากาศได้มากกว่าถังอลูมิเนียม เนื่องจากถังอลูมิเนียมจะมีผนังที่หนามากกว่า เพื่อให้มีความทนทานและความสามารถรับแรงดันได้เทียบเท่ากับถังเหล็ก เพราะความไม่แข็งแรงของอลูมิเนียมนี้เอง อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรามักจะพบว่ามีการใช้ถังดำน้ำอลูมิเนียมอย่างแพร่หลาย แต่ก็มิได้หมายความว่าถังดำน้ำเหล็กจะหมดความนิยมไปเสียทีเดียวครับ ยังมีบางหน่วยงานที่ยังผลิตและเลือกใช้อยู่ตามความเหมาะสมของวัสดุ


ข้อเสียของถังเหล็ก  
- มีน้ำหนักมาก
- การก่อตัวของสนิม และการดูแลรักษายากกว่าอลูมิเนียม


ข้อดีของถังเหล็ก

   - เมื่อความดันในถังลดลง (Low pressure) จะไม่มีผลต่อการควบคุม Buoyancy แต่ถังอลูมิเนียมเราอาจจะพบว่าตัวเราจะมีแรงลอยตัวมากขึ้นเมื่ออากาศเหลือน้อย (แต่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มก้อนน้ำหนักไว้ก่อนแล้วตั้งแต่เริ่มการดำน้ำ)



การตรวจสอบประสิทธิภาพถังดำน้ำด้วย HydrostaticTest
ในหลายๆ ประเทศมีข้อกำหนดที่ถังดำน้ำจะต้องได้รับการตรวจสอบความดัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ทุกๆ 5 ปี, ประเทศอังกฤษ กำหนดทุกๆ 4 ปี และประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 3 ปี (ระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม) ซึ่งวิธีการในการตรวจสอบอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วๆ ไปจะเป็นลักษณะดังต่อไปนี้
1) การทดสอบจะนำถังดำน้ำไปแช่ในน้ำ และวัดปริมาตรของถังดำน้ำ (Tank volume measured)
2) การทดสอบจะอัดแรงดันของน้ำ เข้าไปในถังดำน้ำมากกว่าความดันปกติ (Working pressure) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 5/3 คูณด้วย Working pressure เช่น 5/3 x 200 Bar และดูการขยายของถังดำน้ำ
3) ทำการลดความดันของน้ำที่อัดเข้าไปในถัง และตรวจสอบปริมาตรของถัง เทียบกับปริมาตรก่อนการตรวจสอบ
4) ถ้าหากปริมาตรใหม่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ (Acceptable limit) ถังใบนั้นก็ผ่านการตรวจสอบ และนำไปใช้ได้


การทดสอบประสิทธิภาพของถังดำน้ำ้วย Hydrostatic Test

อาจจะมีบางสถานการณ์ที่ทำให้ถังดำน้ำเกิดการอ่อนตัว (weaken) หรือมีปัญหากับโครงสร้างของถังก่อนที่จะถึงกำหนดที่จะต้องทำการตรวจสอบ ซึ่งอาจจะรวมถึงหัวข้อต่อไปนี้
1) ถังที่ถูกแยกชิ้นส่วน และนำทรายกลิ้งด้านในเพื่อทำความสะอาด เพื่อกำจัดสนิม คราบสกปรก
2) โครงสร้างเสียหายอันเกิดจากการกระทบกระแทก เช่น บุบ ยุบตัว
3) ถังที่ได้รับความร้อนมากกว่า 82 องศาเซลเซียส หรือ 180 องศาฟาเรนไฮต์ เช่นการพ่นและอบสี การถูกเผาหรือรนด้วยไฟ (เนื่องจากถังดำน้ำเหล่านี้จะได้รับการ Treatment ด้วยความร้อนที่มากกว่าหรือเท่ากับ 500 องศาเซลเซียส แล้ว แล้วทำการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วด้วยน้ำเย็น ซึ่งวิธีนี้จะทำให้โลหะผสมทุกชนิดมีความแข็งแรงมาก) หากถังดำน้ำได้รับอุณหภูมิสูงอีกครั้งจะทำให้คุณสมบัติความแข็งแรงของโลหะแตกต่างไปจากเดิม
4) ถังที่ไม่ได้ใช้งานเลย เป็นระยะเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี 


 ถังดำน้ำที่แตกเสียหาย เนื่องจากโลหะมีความล้าและอ่อนตัว

การตรวจสอบประสิทธิภาพถังดำน้ำโดยวิธี Visual inspection (ตรวจสอบด้วยตาเปล่า) 
1. การทำ Visual Inspection คือการตรวจสอบด้วยสายตาโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยจะทำการตรวจสอบภายใน และภายนอกของตัวถังน้ำ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อทำการตรวจสอบถึงความเสียหาย หรือการก่อตัวกันของคราบสกปรกต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งอาจจะเกิดระหว่างการทำ Hydrostatic Test 
2. การตรวจสอบนี่ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตามกฎหมายในหลายๆ ประเทศ แต่ถือเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมดำน้ำ
3. การตรวจสอบโดยการแยก Valve ออกจากคอถังดำน้ำ จากนั้นจึงทำการตรวจสอบเกลียว, O-ring และทาซิลิโคน รวมถึงการทำการตรวจสอบผนังภายในและภายนอก ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อถังดำน้ำได้ 



 การทำ Visual Inspection โดยผู้เชี่ยวชาญ


Valve ของถังดำน้ำมีความแตกต่างกันอย่างไร


1. K valve คือ Sample on/off valve ถังดำน้ำที่ใช้ในปัจจุบันเป็นแบบ K valve ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้เป็นที่แพร่หลาย 


           K valve


2. J valve ซึ่งเป็น valve ที่ประกอบไปด้วยกลไก Reserve เมื่ออากาศเต็มถัง valve จะอยู่ในตำแหน่ง Up หรือขึ้นบน และเมื่ออากาศภายในถังลดต่ำลงเหลือประมาณ 20-40 Bar หรือ 300-500 PSI นักดำน้ำจะปรับ valve ลงมาในตำแหน่ง Down หรือตำแหน่งลงล่าง ซึ่งแนวคิดในการออกแบบ valve ลักษณะนี้ เพื่อเป็นการเตือนนักดำน้ำว่าความดันภายในถังลดต่ำลงแล้ว และนักดำน้ำควรเริ่มว่ายกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยพบ valve ลักษณะนี้ เพราะการออกแบบของ Pressure gauge มีความแม่นยำขึ้น เมื่ออัดอากาศจะต้องปรับ valve ให้อยู่ในตำแหน่งลงล่าง และเมื่ออากาศเต็มแล้วก็จะปรับไปที่ตำแหน่งบน เพื่อพร้อมที่จะใช้อากาศในถังได้


J valve

3. DIN valve ได้รับความนิยมในประเทศแถบยุโรปมาช้านาน เป็นการประกอบโดยวิธีการ First stage ของ regulator จะเป็นเสมือน valve ตัวผู้ และคอถังดำน้ำจะเป็นเสมือน valve ตัวเมีย ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าการประกอบแบบ Yoke screw ที่ใช้กันปกติในปัจจุบัน
1) จะเกิดความแน่นหนาขึ้นในการประกอบ โดยที่ O-ring จะอยู่ระหว่าง valve ทั้งสอง
2) เนื่องจาก  Regulator และถังดำน้ำเป็นสกรูน็อตหมุนเข้าหากัน จึงทำให้มีความแข็งแรงในการประกอบอย่างมาก และได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ชอบดำถ้ำ หรือดำเรือจม ซึ่งจะมีโอกาสกระแทกผนังถ้ำ หรือเรือจมได้มาก

             
               DIN valve 

อะไรคืออุปกรณ์ซึ่งควบคุมความปลอดภัยของถังดำน้ำ เมื่อมีแรงอัดอากาศที่เกินกว่าปกติ?
เคยคิดอยู่เหมือนกัน ถ้าเราอัดอากาศเกินแรงดันสูงสุดที่ถังรับได้หล่ะจะเป็นอย่างไร เพราะมีหลายครั้งที่ผมอัดอากาศอยู่แต่ก็เผลอเดินไปทำธุระบ้าง หรือบางทีก็ไปยืนคุยโม้กับคนอื่นอยู่ ปรากฎว่าถังดำน้ำนั้นเต็มไปตั้งนานแล้ว แต่โชคดีที่ตัวเครื่องอัดอากาศ (Compressure) มีระบบควบคุมแรงดันเอาไว้ ไม่งั้นถังจะแตกแน่เลย จริงหรือเปล่า ? คำตอบก็คือไม่จริง เนื่องจากที่วาล์วของถังดำน้ำจะมีระบบความปลอดภัยอีกส่วนหนึ่งนั่นก็คือ Burst disk แล้วเจ้าเหรียญตัวนี้มันคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรกันหล่ะครับ


Burst disk เกิดการโก่งตัวและแตกเนื่องจากแรงดันเกินปกติ


Burst disks ( เหรียญโลหะทำจากทองแดง) จะประกอบอยู่ตรงคอถังดำน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากแรงอัดอากาศที่เกินกว่าปกติ จนอาจก่อให้เกิดการระเบิดขึ้นได้  โดยเหรียญนี้จะแตกออกเมื่อความดันมากกว่า 125-166% เหนือความดันปกติ ซึ่งการผลิตวาล์วถังดำน้ำถูกควบคุมโดยข้อกำหนดตามกฎหมายสากล อย่างไรก็ตามเหรียญเล็กๆ นี้อาจจะเกิดการอ่อนตัวเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นควรทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

9 ความคิดเห็น:

  1. มีประโยชน์มากๆ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. มีประโมากครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  3. ถังหมดอายุส่งตรวจได้ที่ไหนและค่าใข้จ่ายเท่าไรคับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สามารถขอตรวจสอบการใช้งานได้ที่สถาบันสอนดำน้ำ
      PADI พัทยาครับ

      ลบ
  4. สกลมีที่รับชื้อถังดำนำ้ไหม

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขายมั้ยครับผมตามหาซื้อถังดำน้ำ มือสอง
      ทักเฟสบุค ผมได้ครับ Torpong Junsoong

      ลบ
  5. ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลครับ

    ตอบลบ
  6. Tithi Pendant - titanium-art - etching - Tithi
    Titanium-art babyliss pro titanium straightener - etching - Tithi - Tithi. Tithi - Tithi titanium eyeglasses Tithi Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. titanium daith jewelry Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. ford edge titanium Tithi. titanium banger Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tithi. Tith

    ตอบลบ