วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

BCD กับการดำน้ำ

ที่มา: 1. The Encyclopedia of Recreational Diving; PADI
 ภาณุ  แช่มชื่น เรียบเรียง

>>>คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ไปท่องเที่ยวดำน้ำอยู่เป็นประจำ หรือบางคนไม่ถึงกับดำน้ำบ่อยครั้งนัก ทว่าในหนึ่งปีฉันจะต้องมีทริปดำน้ำสุดพิเศษที่ฉันตั้งตารอคอยอย่างใจจดจ่อ แบบที่เรียกได้ว่าดำน้ำทั้งทีก็ต้องเต็มที่กับชีวิตไปเลย หรือสำหรับบางคนในชีวิตนี้อย่างน้อย ๆ อาจบอกว่าฉันก็เคยได้เรียนหลักสูตรดำน้ำมาแล้วเหมือนกันนะ แต่เนื่องด้วยภาระงานที่มาก สุขภาพ และปัจจัยอื่น ๆ ไม่เอื้ออำนวย ทำให้โอกาสที่จะไปดำน้ำน้อยไปหน่อย แต่ไม่เป็นไรครับ ประเด็นอยู่ที่ว่าเรามีทัศนคติต่อกีฬา หรือกิจกรรมสันทนาการประเภทนี้อย่างไร คุณได้ฝึกฝน และพัฒนาทักษะอันสุดพิเศษ ที่น้อยคนบนโลกนี้จะมีโอาสได้ทำหรือไม่ สรุปคือแม้จะไปดำน้ำมาหลายร้อยไดฟว์ แต่ถ้าทัศนะคติต่อกิจกรรมดำน้ำยังแย่อยู่ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในการดำน้ำ อีกทั้งทักษะการดำน้ำก็ไม่ดีเท่าที่ควร (ประมาณว่าครูต้องประกบตลอดเวลา ทุกวินาที) บุคคลดังกล่าวหมายถึงผู้ที่มีแค่เปลือกนอกของศาสตร์แห่งการดำน้ำเท่านั้น เนื่องจากคุณไม่พยายามเจาะให้ลึกไปจนถึงแก่นแท้ของศาสตร์ดังกล่าวเลย เปรียบเสมือนผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ แต่ผู้นั้นยังขับรถฝ่าฝืนกฏจราจร และเกิดอุบัติเหตุต่อตนเอง และผู้อื่นบ่อยครั้งนั่นเอง


ประกาศนียบัตรนักดำน้ำบ่งบอกถึงมาตรฐานการฝึก มิได้มีไว้โชว์นะครับ

>>>ทักษะการสร้างสภาพการลอยตัวเป็นกลาง (Nuetral buoyancy skill) ทั้งในส่วนของ Fin pivot และ Hovering นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่ง และอาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดำน้ำก็ว่าได้ เนื่องจากการที่นักดำน้ำมีแรงลอยตัวเป็นกลาง เมื่อขณะอยู่ใต้น้ำจะช่วยให้นักดำน้ำผู้นั้น มีอัตราการใช้พลังงานที่ต่ำ และประหยัดอากาศในถังดำน้ำ นอกจากนี้ยังไม่ทำให้อุปกรณ์ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสกับสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่พื้น ที่จะนำมาซึ่งความเสียหายของอุปกรณ์ และการบาดเจ็บของร่างกายได้ 



การมีสภาพแรงลอยตัวไม่เหมาะสมจะทำให้การดำน้ำของคุณกลายเป็นเรื่องยาก
 

>>>จะสร้างสภาพการลอยตัวให้เป็นกลางได้อย่างไร ? หลายคนคงลืมไปแล้ว แต่ไม่เป็นไรครับ การที่นักดำน้ำจะมีแรงลอยตัวที่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการคือ 1. การปรับและใช้ระบบน้ำหนักที่เหมาะสม โดยตระหนักเสมอว่าตะกั่วไม่ได้มีไว้ถ่วงให้จม แต่เพื่อชดเชยแรงลอยตัวที่เพิ่มขึ้นจาก wet suit และการลดลงของอากาศในถังดำน้ำ 2. การควบคุมอากาศในถุงลมของ BCD และ 3. ควบคุมปริมาตรของปอดจากจังหวะการหายใจแบบละเอียด และประณีต เท่านี้เองครับไม่ยากเลยจริงไหม 



แรงลอยตัวขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการคือ ระบบน้ำหนัก กาควบคุม BCD และปริมาตรปอด
 

>>>จากสิ่งที่ผมเกริ่นไปซะยืดยาวในตอนต้น ผมก็จะขอนำคุณเข้าสู่หัวข้อหลักของเรา ณ บัดนี้>>>

>>>ไม่ว่านักดำน้ำจะมีชั่วโมงบินมากหรือน้อยเพียงใด หรือจะมีประกาศนียบัตรนักดำน้ำระดับใดก็ตาม ผมกล้าพูดได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก และไม่เคยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า BCD หรือ BC เนื่องจากอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับการดำน้ำแบบ SCUBA เช่นเดียวกับอุปกรณ์พื้นฐานอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอาทิเช่น Mask, Snorkel, Fins, Regulator, Weight systems, Computerและอื่น ๆ

>>>ผมยังจำความได้ถึงทุกวันนี้ ถึงตอนที่ครูของผมเคยสอนว่า BCD เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยในการควบคุมแรงลอยตัวของนักดำน้ำ ทั้งในขณะที่อยู่บนผิวน้ำ และใต้น้ำ และเมื่อเรียนจบ เราก็ไปฝึกภาคปฏิบัติในสระน้ำจนชำนาญ แล้วก็จบ....แค่นั้น... ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ไม่เคยมีใครถามครูเลยว่า BCD มีที่มา และพัฒนาการอย่างไร แล้ว BCD ที่เคยพบเห็นอยู่ตามร้านขายอุปกรณ์ดำน้ำ และตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่รูปร่างหน้าตา และราคาแตกต่างกัน แล้ว BCD เหล่านั้นเอาไว้ใช้ตอนไหน อย่างไร (ปัญหาเยอะน่ะเนี่ย)   

>>>ด้วยเหตุนี้เองผมจึงนำตำราทั้งเล่มเก่า และใหม่ที่มี จากรูบาอาจารย์เคยหยิบยื่นให้ รวมทั้งข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แล้วจึงกลั่นกรองจนได้ข้อมูลมาพอสังเขป มาบอกเล่าเก้าสิบกันนะครับ


รูปแบบของ BCD สำหรับการดำน้ำในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

 
1. BCD ประเภทสวมทางด้านหน้า (Front Mounted BCD) 
เราอาจพบว่า BCD ประเภทนี้สามารถเรียกอีกอย่างว่า Horse collar vest ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของ BCD ทั้งหมดในปัจจุบันก็ว่าได้ ปัจจุบันยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างในแถบยุโรป และนิยมใช้สำหรับการ ดำน้ำแบบ snorkeling

  
Front Mounted BCD

2. BCD ประเภทสวมทางด้านหลัง (Back Mounted BCD)
ด้วยลักษณะเด่นของถุงลมรูปเกือกม้าขนาดใหญ ที่ผลิตจากวัสดุที่มีความคงทนสูง ดังนั้น BCD ประเภทนี้จึงเป็นที่นิยม และเป็นมาตรฐานของการดำน้ำทางเทคนิค (Technical diver) โดยเฉพาะการดำน้ำในที่แคบ เช่น การดำน้ำในถ้ำ และการดำน้ำในเรือจมเป็นต้น

 

 Back Mounted BCD

3. BCD แจ็คเก๊ตขั้นสูง (Advanced design jacket BCD)
ทำไมต้องขั้นสูง ? ชื่อข้างต้นบ่งบอกว่าได้รับการพัฒนามาแล้วจนมีระบบและความสามารถที่ดี เนื่องจาก BCD เสื้อแจ็คเก๊ต (Jacket BCD) แบบเดิมนั้น ยังใช้ระบบถุงลมที่ครอบคลุมเกือบทั้งลำตัวส่วนบน ไม่ว่าจะเป็นด้านหลัง หัวไหล่ และช่วงท้องด้านล่าง รูปแบบดังกล่าวอาจทำให้ศูนย์ถ่วงของร่างกายไม่ดีนัก ส่งผลให้การควบคุมสมดุลของร่างกายในแนวราบไม่คงที่ จึงมีการพัฒนาเป็นรูปแบบใหม่ ที่เน้นเฉพาะถุงลมในส่วนทีสำคัญมากขึ้น เช่นถุงลมด้านหลัง นอกจากนี้ยังมีการลดขนาดของสาย Inflator ลงและเชื่อมต่อโดยตรงกับถุงลม ทำให้สามารถทำการปรับอัตราการเข้าออกของอากาศได้รวดเร็วมากขึ้น

  
Advanced design jacket BCD


4. BCD ระบบ (Systems BCD)
 BCD ประเภทนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของนักดำน้ำที่ต้องการ ปฏิบัติงานหรือภารกิจที่มาก และยากขึ้น โดยสามารถเชื่อมต่อ คล้องและยึดกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มากกว่าทั้งปริมาณ และความหลากหลาย เช่น ถังอากาศ และถังแก๊สผสมพิเศษ รอก เชือก ถุงยกของ และอื่น ๆ ซึ่ง BCD ประเภทอื่น ไม่สามารถทำได้ นักดำน้ำที่ใช้ BCD ประเภทนี้ คือนักดำน้ำแบบเทคนิค (Technical diver) ที่ดำน้ำแบบ Deep trimix tec dive
 


  
Systems BCD

เนื่องจาก BCD ระบบ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคงจะมีความซับซ้อนอยู่พอสมควร โดยเกิดจากการรวมกันของอุปกรณ์ย่อย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. อาน (Harness) 2. ตัว BCD หรือถุงลม (Bladder) และ 3. กระเป๋าน้ำหนัก (Weight pockets ) แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่จะเข้าใจใช่ไหมครับ ลองพิจารณาตามแผนภาพด้านล่างได้เลยครับ
 
 
 ส่วนประกอบหลักของ BCD ระบบ



>>> คราวนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วนะครับว่า BCD มีกี่ประเภท และแบ่งตามลักษณะการใช้งานอย่างไร และขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยนะครับ สำหรับนักดำน้ำที่สนใจจะไปเช่า และเลือกซื้อ BCD จะต้องพิจารณาอะไรอีกบ้าง ง่าย ๆ ดังนี้ครับ BCD ที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะพื้นฐาน 5 ประการคือ

1. BCD ที่เติมอากาศเข้าไปภายในแล้ว จะมีควมสามารถในการยกตัวของนักดำน้ำ พร้อมอุปกรณ์พื้นฐานให้พ้นจากพื้นได้สบายเมื่ออยู่ใต้น้ำ และสามารถพยุงนักดำน้ำได้ดีเช่นกัน เมื่ออยู่บนผิวน้ำ

2. มีท่ออากาศ ขนาดเหมาะสมที่จะเติม และปล่อยอากาศเข้า BCD ได้ง่าย และรวดเร็ว 

3. มีส่วนต่อกับสายแรงดันต่ำ (Low pressure inflator) ที่สามารถใช้อากาศจากถังดำน้ำเติมเข้า BCD ได้โดยตรง

4. ต้องมีระบบปล่อยอากาศฉุกเฉิน (Dump valve) ที่ป้องกันการแตก หรือฉีกขาด จากการที่มีอากาศเพิ่มขึ้นเกินขีดจำกัด เนื่องจากการเติมอากาศมากเกินไป หรือการขยายตัวของอากาศเนื่องจากการลดลงของความดัน

5. BCD ต้องมีสายรัด หรือจุดเชื่อมต่อ ที่เหมาะสมเมื่อสวมใส่แล้วจะกระชับ พอดีทั้งตอนที่เติมอากาศเข้า และปล่อยออกจาก BCD 




การเลือกใช้ BCD ที่เหมาะสมจะทำให้การฝึกทักษะ และการดำน้ำของคุณปราศจากอุปสรรค
 

>>>แล้วเราจะเลือกใช้ BCD ประเภทไหนให้เหมาะกับตัวเองหล่ะ ? ง่ายนิดเดียวครับ ให้คุณพิจารณาถึงระดับขั้นของการฝึกของคุณ และคำนึงถึงงานและภารกิจที่เราจะต้องลงไปปฏิบัติใต้น้ำครับ หลังจากนี้ก็เลือก BCD ที่มีขนาดที่กระชับ และพอดีกับร่างกายของเราเท่านั้นก็เพียงพอแล้วครับ หากคุณมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากครูฝึกของคุณ หรือฝ่ายบริการลูกค้า ณ ร้านดำน้ำที่สะดวกกับคุณนะครับ สุดท้ายนี้ผมหวังว่าทุกคนคงจะคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหน้าตาของ BCD ประเภทต่าง ๆ และลักษณะการใช้งาน ซึ่งคุณจะสามารถลือกซื้อ หรือเช่าเพื่อไปดำน้ำพักผ่อนได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล และใช้อุปกรณ์ในการพัฒนาทักษะการดำน้ำของคุณให้สูงขึ้นได้แน่นอน 



ควรเลือกซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ดำน้ำ จากร้านที่น่าเชื่อถือ และครูของท่านเอง
 
 >>>สุดท้ายนี้ผมหวังว่า คุณคงจะสนุก สนาน และให้ความสนใจกับการเข้าร่วมกิจกรรมการดำน้ำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรอัพเดท ข่าวคราวในวงการดำน้ำเป็นประจำ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ของตนเองนะครับ



สนใจหลักสูตรเรียนดำน้ำ คลิ๊ก!!!!
โดยทีมงานผู้สอนคุณภาพ เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และวิทยาศาสตร์ทางทะเล

























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น